วิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

ศึกษาความรู้ในการสื่อสารด้านวัจนภาษา และอวัจนภาษาในชีวิตประจำวัน ภาษา- ต่างประเทศที่นำมาใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน สำนวน โวหาร และภาพลักษณ์ (ภาพพจน์) ในการสื่อสาร ฝึกปฏิบัติการใช้ถ้อยคำสำนวนให้เหมาะสมกับบุคคลตามโอกาส และสถานที่ กลวิธีการใช้ภาษาเพื่อโน้มน้าวใจ การตีความ
การตีบท การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การสร้างงานเขียนเพื่อเผยแพร่ในสื่อมวลชนประเภทต่าง ๆ

จุดมุ่งหมายรายวิชา

1. ผู้เรียนสามารถบอกแนวคิดพื้นฐานของการสื่อสาร
2. ผู้เรียนมีทักษะทางด้านการพูด สามารถพูดได้ถูกต้องเหมาะสม
3. ผู้เรียนมีทักษะทางด้านการฟัง สามารถฟังและคิดอย่งมีวิจารณญาณ
4. ผู้เรียนมีทักษะทางด้านการอ่าน สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง
5. ผู้เรียนมีทักษะทางด้านการเขียน สามารถเขียนงานเชิงสร้างสรรค์ได้
6. ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ความรู้พื้นฐานเรื่องการสื่อสาร

การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต มนุษย์จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาก การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารมีประโยชน์ทั้งในแง่บุคคลและสังคม การสื่อสารทำให้คนมีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น การสื่อสารเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคม เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้มนุษย์สามารถสืบทอดพัฒนา เรียนรู้ และรับรู้วัฒนธรรมของตนเองและสังคมได้ การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ชุมชน และสังคมในทุกด้าน

บทที่ 1 การสื่อสาร

ความรู้พื้นฐานเรื่อง การสื่อสาร

การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต มนุษย์จำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันอยู่ตลอดเวลา การสื่อสารจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาก การสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารมีประโยชน์ทั้งในแง่บุคคลและสังคม การสื่อสารทำให้คนมีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น การสื่อสารเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคม เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้มนุษย์สามารถสืบทอดพัฒนา เรียนรู้ และรับรู้วัฒนธรรมของตนเองและสังคมได้ การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ชุมชน และสังคมในทุกด้าน

ความหมายของการสื่อสาร

คำว่า การสื่อสาร (communications) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า communis หมายถึง ความเหมือนกันหรือร่วมกัน การสื่อสาร (communication) หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสารโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน สัญลักษณ์อื่นใด การแสดงหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปยังผู้รับสาร ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม หรือความจำเป็นของตนเองและคู่สื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน บริบททางการสื่อสารที่เหมาะสมเป็น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล

ความสำคัญของการสื่อสาร

การสื่อสารมีความสำคัญดังนี้
1. การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย ไม่มีใครที่จะดำรงชีวิตได้ โดยปราศจากการสื่อสาร ทุกสาขาอาชีพก็ต้องใช้การสื่อสารในการปฏิบัติงาน การทำธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา พัฒนาการทางสังคม จึงดำเนินไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการทางการสื่อสาร

2. การสื่อสารก่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลและสังคม ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนในสังคม ช่วยสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี สะท้อนให้เห็นภาพความเจริญรุ่งเรือง วิถีชีวิตของผู้คน ช่วยธำรงสังคมให้อยู่ร่วมกันเป็นปกติสุขและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

3. การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทั้งตัวบุคคลและสังคม การพัฒนาทางสังคมในด้านคุณธรรม จริยธรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ รวมทั้งศาสตร์ในการสื่อสาร จำเป็นต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง การสื่อสารเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ

บทที่ 2 การทำโครงการ

ความหมายของโครงการ

โครงการ มาจากภาษาอังกฤษคำว่า ” Project” หมายถึงการดำเนินกิจกรรมที่ประกอบด้วยแผนงานย่อย ที่ระบุรายละเอียดได้ชัดเจน เช่น วัตถุประสงค์ ขอบเขตการดำเนินงาน กรอบระยะเวลาต้องมีการเริ่มต้นและจุดจบ งบประมาณที่ใช้ และผลลัพธ์ที่วัดหรือประเมินผลได้ การเขียนโครงการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “โครงการ”หมายถึงแผนหรือเค้าโครงตามที่กำหนดไว้

นักการศึกษา นักการตลาด และนักกฎหมายมีการให้คำจำกัดความของความหมายของโครงการไว้มากมายทั้งซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันพอสรุปได้ว่า

โครงการคือ กิจกรรมหรือแผนงานที่เป็นหน่วยอิสระหนึ่งที่สามารถทำการวิเคราะห์วางแผนและนำไปปฏิบัติพร้อมทั้งมีลักษณะแจ้งชัดถึงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด โดยแผนสำหรับกิจการต่างๆต้องระบุวัตถุประสงค์ตามระยะเวลาที่กำหนด

โครงการคือ การวางแผนล่วงหน้าที่จัดทำขึ้นอย่างมีระบบประกอบด้วยกิจกรรมย่อยหลายกิจกรรมที่ต้องใช้ทรัพยากรในการดำเนินงาน และคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า แต่ละโครงการมีเป้าหมายเพื่อการผลิตหรือการให้บริการเพื่อเพิ่มพูนสมรรถภาพของแผนงาน

โครงการ หมายถึง แผนงานย่อย แผนการดำเนินงานหรือกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติได้โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานอย่างชัดแจ้ง มีระยะเวลาเริ่มต้น มีระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โครงการ หมายถึง การดำเนินงานหรือกิจกรรมที่มีความสลับซับซ้อนที่ไม่เป็นงานประจำวัน มีการดำเนินงานในเวลาใดเวลาหนึ่งหรือมีการกำหนดระยะเวลา งบประมาณ ทรัพยากรการบริหาร และมีการออกแบบแนวทางการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจง ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือผู้บริโภค เป็นสำคัญ ซึ่งองค์การโดยทั่วไปจะมีการกำหนดเป้าหมายที่มุ่งให้โครงการสามารถ ตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า ในขณะที่โครงการจะมีการดำเนินงานควบคู่ไปกับงานประจำขององค์การด้วย แต่โครงการจะมีความแตกต่างออกไปจากหน้าที่ปฏิบัติปกติ สำหรับลักษณะของ โครงการ ได้แก่ มีการกำหนดวัตถุประสงค์ มีการระบุช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ บุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษจากฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติ มีการดำเนินกิจกรรมที่ไม่เคย ปฏิบัติมาก่อน รวมทั้งมีการใช้เงินทุน เวลา และการปฏิบัติการ เป็นต้น

โครงการจึงเป็นกิจกรรมที่ได้รับการจัดทำขึ้นแล้วนำไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของแผนงานที่ได้กำหนดไว้ โครงการทุกโครงการที่กำหนดขึ้นจะต้องสอดคล้องและสนับสนุนแผนงาน มีรูปแบบการดำเนินงานที่ได้จัดเตรียมได้อย่างมีระบบ การดำเนินงานของโครงการจะต้องเป็นที่ตกลงยอมรับและรับรู้กันทุกฝ่าย โครงการทุกโครงการจะต้องมีผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ รวมทั้งจะต้องได้รับการสนับสนุนเอาใจใส่ดูแลจากผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญโครงการจะต้องได้รับการตรวจสอบและการประเมินอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการบรรลุถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ความสำคัญของโครงการ

โครงการมีความสำคัญต่อการวางแผนและการดำเนินงาน

1) ช่วยให้การดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายหรือความต้องการของหน่วยงาน

2) ทำให้การดำเนินงานนั้นมีทิศทางที่ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ

3) เป็นหลักฐานและใช้ในการประเมินค่างานที่ผ่านมาและเป็นแนวทางในการดำเนินการครั้งต่อไปได้

ประโยชน์ของโครงการ

การเขียนโครงการจะต้องมีการเสนอความคิดเห็นอย่างถูกต้อง มีเหตุผล แสดงถึงรายละเอียดได้อย่างชัดเจน โดยมิได้คำนึงถึงตัวบุคคลผู้ปฏิบัติโครงการ เพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถบรรลุจุดประสงค์ตามที่หวังไว้ได้ โครงการที่ถูกต้องชัดเจนจะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานหลายประการด้วยกัน ได้แก่
1. ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้อ่านให้มีความเข้าใจในเนื้อหาสาระได้อย่างถูกต้องชัดเจนและตรงตามเจตนาของผู้เขียนโครงการ
2. ช่วยประหยัดเวลาแก่ผู้อนุมัติด้วยการใช้เวลาอ่านเพียงเล็กน้อยก็สามารถที่จะตัดสินใจได้
3. ช่วยให้การปฏิบัติงานตามโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
4. เป็นการแสดงถึงประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนโครงการ

บทที่ 3 การพูด

ความหมายของการพูด

การพูด การพูดเป็นพฤติกรรมทางภาษาที่ควบคู่ไปกับการฟังเพื่อการสื่อความหมายระหว่างมนุษย์ เป็นการเปล่งเสียงออกมาเป็นภาษาเพื่อถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก หรือความต้องการของผู้พูดไปยังผู้ฟัง โดยใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง และอากัป กิริยา จนเป็นที่เข้าใจกันได้
การพูดที่ดี คือ การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง รวมทั้งกิริยาอาการต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามจรรยามารยาท ประเพณีนิยมของสังคม เพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความรู้สึก ความต้องการ ทัศนคติ และ ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้ผู้ฟังได้รับรู้และก่อให้เกิดการตอบสนองตรงตามที่ผู้พูดต้องการ
การพูดจึงเป็นการสื่อสารสองทาง คือ มีทั้งผู้พูดและผู้ฟัง การพูดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ “ศาสตร์” หมายถึง การพูดจะต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ที่ใช้สอน ถ่ายทอด ปฏิบัติ ฝึกฝน เช่นเดียวกับหลักวิชาแขนงอื่นๆ ส่วน “ศิลป์” หมายถึง การพูดเป็นเรื่องของความสามารถพิเศษเฉพาะบุคคล นอกจากนี้การพูดยังจัดเป็นทักษะและวิชาชีพอีกประการหนึ่ง ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้
– ที่ว่าเป็นศาสตร์ เพราะ เป็นวิชาที่มีหลักเกณฑ์ มีทฤษฎีให้เรียนรู้และถ่ายทอดกันได้ เช่น หลักเกณฑ์การออกเสียงจัดเป็นสัทศาสตร์ การแสดงกิริยาอาการจัดเป็นจริยศาสตร์ และการติดต่อสื่อสารจัดเป็นสังคมศาสตร์ เป็นต้น
– ที่ว่าเป็นศิลป์ เพราะ ต้องนำหลักเกณฑ์ไปปฏิบัติให้เกิดความไพเราะสวยงาม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ฟัง การศึกษาแต่หลักเกณฑ์หรือทฤษฎีเพียงอย่างเดียวจึงไม่ สามารถที่จะช่วยให้ผู้ศึกษาวิชาการพูดได้รับประโยชน์จากการพูดมากเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องนำไปปฏิบัติ โดยเพิ่มเทคนิคและกลวิธีต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดความพอใจ
– ที่ว่าเป็นทักษะ เพราะ การพูดต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญจึงจะใช้ประโยชน์ได้ดี ยิ่งชำนาญมากเท่าใดก็ยิ่งพูดดีขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะเรียนรู้ทฤษฎีและมีศิลปะในการพูดเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว แต่ถ้าขาดการฝึกฝนก็จะเอาดีไม่ได้ ตรงกับสุภาษิตที่กล่าวว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่kมือคลำ และสิบมือคลำไม่เท่าทำเอง”
– ที่ว่าเป็นวิชาชีพ เพราะ ทุกๆ อาชีพใช้ภาษาพูดเป็นสื่อในการติดต่อสื่อสาร ถ้าพูดดีเป็นศรีสง่าตนเอง ประกอบอาชีพใดๆ ก็มีแต่ความเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าพูดไม่ดีจะมีแต่ความเสื่อมและเกิดอันตรายแก่ตนเองเช่นกัน ดังสุภาษิตที่กล่าวว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก”